Living Estate

Living Estate รับทำ Feasibility โครงการอสังหาฯ

Living Estate

อสังหาริมทรัพย์และการตลาด

Living Estate

Real Estate Development Analysis

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หลังคาประเภทต่างๆ

หลังคารูปแบบต่างๆ




1.หลังคาแบน (FLAT SLAB) 



                     มีลักษณะแบนราบคล้ายกับเป็นพื้นจึงมักถูกใช้เป็นพื้นดาดฟ้า แต่เนื่องจากรับความร้อนมากและกันแดดกันฝนไม่ค่อยได้ จึงไม่ใคร่เหมาะกับบ้านเราสักเท่าไร แต่ที่เห็นนำมาใช้กันได้ก็เห็นจะเป็นอาคารตึกแถวหรืออาคารพานิชย์สูงหลายชั้น และอาคารที่ไม่เน้นความสวยงามของรูปทรงหลังคา การก่อสร้างหลังคาประเภทนี้คล้ายๆกับการก่อสร้างพื้น แต่มีข้อควรทำคือควรจะผสมน้ำยากันซึมหรือควรมีวัสดุกันซึมปูทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้บนพื้นที่หลังคาประเภทนี้ขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ 


2.หลังคาเพิงหมาแหงน (LEAN TO)



                   เป็นหลังคาที่ยกให้อีกด้านสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ เหมาะสมสำหรับบ้านขนาดเล็ก เนื่องจากก่อสร้างง่าย รวดเร็ว ราคาประหยัด แต่แฟนคนรักบ้านต้องระวังควรให้หลังคามีองศาความลาดเอียงมากพอ ที่จะระบายน้ำฝนออกได้ทันไม่ไหลย้อนซึมกลับเข้ามาได้ โดยอาจพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น ความชันจากขนาดของหลังคา วัสดุมุงหลังคา และระยะซ้อนของหลังคา เป็นต้น ในกรณีที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่น้ำฝนจะไหลย้อนซึมเข้ามาได้ ก็ควรใช้ความลาดชันมากขึ้นตามลำดับ เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้รวดเร็วขึ้น 


3.หลังคาแบบผีเสื้อ (BUTTERFLY) 



                   หลังคาชนิดนี้ประกอบด้วยหลังคาเพิงหมาแหงน 2 หลังหันด้านที่ต่ำกว่ามาชนกัน ไม่ค่อยเหมาะกับสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกชุกแบบเมืองไทยสักเท่าไร เนื่องจากต้องมีรางน้ำที่รองรับน้ำฝนจากหลังคาทั้ง 2 ด้าน ทำให้รางน้ำมีโอกาศรั่วซึมได้สูง จึงไม่เป็นที่นิยมสร้างกันมากนัก ยกเว้นอาคารที่ต้องการลักษณะเฉพาะพิเศษที่แปลกตาออกไป 

4.หลังคาทรงหน้าจั่ว (GABLE ROOF)


                     เป็นหลังคาที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบเมืองไทยเรา มีลักษณะเป็นหลังคาเพิงหมาแหงน 2 หลังมาชนกัน มีสันสูงตรงกลาง เป็นหลังคาที่มีความสะดวกในการก่อสร้าง สามารถกันแดดกันฝนได้ดี และสามารถระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดีอีกด้วย 


5.หลังคาทรงปั้นหยา (HIP ROOF)



                   เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝนได้ดีทุกๆด้าน มีความโอ่อ่าสง่างาม แต่หลังคาชนิดนี้มีราคาแพง เนื่องจากเปลืองวัสดุมากกว่าหลังคาชนิดอื่นๆ ตลอดจนต้องใช้ช่างที่มีฝีมือพอสมควรในการก่อสร้าง เพราะมีรายละเอียดเยอะกว่าหลังคาชนิดอื่นๆ 
6.หลังคาแบบร่วมสมัย (MODERN & CONTEMPORARY) 



                เป็นหลังคาที่มีรูปทรงทันสมัย แตกต่างจาก 5 แบบข้างต้น และใช้วัสดุที่ทันสมัย ก่อให้เกิดรูปทรงแปลกตา แต่ต้องระวังเรื่องความร้อนและการรั่วซึม 



วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การเลือกที่ดินสำหรับปลูกบ้าน

การเลือกที่ดินสำหรับปลูกบ้าน


1. การเข้าถึงที่ดิน

ควรมีถนนหรือซอยทางเข้ากว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร จนถึงหน้าที่ดินของท่าน เพราะความกว้างของถนนหรือซอยที่กล่าวถึง รถบรรทุกสามารถวิ่งสวนทางกันได้ ถ้าได้ถนนหรือซอยที่กว้างกว่า 6 เมตร จะยิ่งเป็นผลดีต่อการเข้าถึงที่ดิน เพราะความเจริญจะขยายตัวได้ง่ายบนถนนที่กว้าง อีกทั้งราคาขายต่อยังคงสูงขึ้นได้ง่ายกว่าอีกด้วย

ถนนหรือซอยหน้าที่ดินนี้ ควรจะเชื่อมกับถนนสายรองหรือถนนสายหลักที่กว้างมากกว่า และควรมีขนส่งมวลชนหลากหลายผ่าน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของเจ้าของที่ดินเอง



2. แหล่งสถานที่สำคัญ

ในชีวิตประจำวันที่เราดำรงอยู่นั้น สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องพึ่งพาแหล่งสถานที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ คลินิก โรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถาน ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน หรือแม้แต่สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง และที่ทำการของเขต-เทศบาล หากมีสถานที่สำคัญเหล่านี้อยู่ในบริเวณโดยรอบจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี


3. สภาพแวดล้อม

แน่นอนที่สุดที่เราคงไม่อยากมีบ้านอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ จนเกินไป จากมลภาวะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เสียง ฝุ่น อากาศ กลิ่น นอกจากนี้เราคงไม่อยากอยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม คลองระบายน้ำเสีย เหล่านี้เป็นต้น ในเรื่องของความปลอดภัยเราควรสังเกตจากบริเวณข้างเคียงว่าสถานีตำรวจและสถานีดับเพลิงห่างไกล หรือ เข้าถึงที่ดินของเราได้โดยสะดวกหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์อันตรายใดๆ



4.ทิศที่ตั้ง

ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะแดดจากดวงอาทิตย์ ถ้าหลีกเลี่ยงหน้าบ้านหรือหน้าที่ดินที่หันไปทางทิศตะวันตกได้จะเป็นการดีที่สุด เพราะหน้าบ้านของท่านจะโดนแดดส่องเข้าตั้งแต่บ่ายจรดเย็นเลย ทำให้บ้านร้อนตลอดบ่าย พอเรากลับเข้าบ้านตอนเย็น บรรยากาศภายในบ้านจะค่อนข้างอึดอัดและรู้สึกไม่สบายตัว

เรื่องลมเย็นที่มาพร้อมกับฝนในฤดูฝนนั้น จะมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ เราต้องออกแบบบ้านให้มีกันสาดกันฝนยื่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการรั่วซึมบริเวณกรอบบานประตูและหน้าต่าง ส่วนกันสาดที่ป้องกันแสงแดดในด้านทิศเหนือ-ใต้ ควรเป็นกันสาดแนวราบ และในด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ควรเป็นกันสาดแนวตั้ง




5.ขนาดที่ดิน

ผู้อ่านหลายท่านยังไม่แน่ใจว่า ควรจะซื้อที่ดินขนาดเท่าไหร่ดีที่เหมาะสมกับขนาดบ้านของท่าน โดยท่านต้องทราบก่อนว่าตั้งใจจะปลูกบ้าน 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น

กรณีปลูกบ้าน 2 ชั้น ผนังชั้น 2 ทั้ง 4 ด้านของบ้านต้องมีหน้าต่างห่างจากที่ดินทุกด้านไม่น้อยกว่า 2.0 เมตร ดังนั้นหากท่านจะปลูกบ้านกว้าง 8.0 เมตร ลึก 12.0 เมตร เราควรซื้อที่ดินที่มีหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร (ที่ว่างข้างซ้าย 2 เมตร + ตัวบ้าน 8 เมตร + ที่ว่างข้างขวา 2 เมตร) และความลึกของที่ดิน ควรลึกไม่น้อยกว่า 16 เมตร (ที่ว่างด้านหน้า 2 เมตร + ตัวบ้าน 12 เมตร + ที่ว่างข้างหลัง 2 เมตร)

กรณีปลูกบ้าน 3 ชั้น ผนังชั้น 3 ทั้ง 4 ด้านของบ้าน ต้องมีหน้าต่าง (หรือขอบนอกของระเบียงชั้น 3) ห่างจากที่ดินข้างเดียวทุกด้านไม่น้อยกว่า 3 เมตร โดยเอาระยะ 3 เมตร ของแต่ละข้างบวกเข้าไปกับตัวบ้านด้วยวิธีเดียวกันกับบ้าน 2 ชั้น กรณีปลูกบ้านขนาด 8 x 12 เมตร ดังนี้

ที่ว่างข้างซ้าย 3 เมตร + ตัวบ้าน 8 เมตร + ที่ว่างข้างขวา 3 เมตร = ที่ดินกว้างน้อยสุด 14 เมตร

ที่ว่างด้านหน้า 3 เมตร + ตัวบ้าน 12 เมตร + ที่ว่างด้านหลัง 3 เมตร = ที่ดินลึกน้อยที่สุด 18 เมตร

ทั้งนี้คิดเฉพาะที่ดินสำหรับตัวบ้านเท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงบริเวณที่ว่าง สวนไม้ ที่จอดรถ และปัจจัยอื่นเช่น ความกว้างถนนหน้าที่ดิน, ที่ดินติดคลอง







ที่มา : http://www.alive-house.com

                                                                                                                                                        https://faverhome.com/interior-decor/