การตรวจบ้านก่อนโอน
การตรวจรับบ้านนั้น สิ่งแรกที่เราควรทำคือ เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ อาทิเช่น สมุดโน๊ต ปากกา ไขควงเช็คไฟ ไม้บรรทัด ลูกปิงปอง หรือลูกแก้วหลายๆ ลูก เพื่อใช้ตรวจสอบพื้นเรียบหากไหลรวมกันไปทางไหนแสดงว่าพื้นเป็นหลุม หากจุดไหนไม่มีลูกแก้วอยู่แสดงว่าพื้นโก่ง หรืออาจจะลองลากเท้าดูว่าเรียบหรือเปล่า
นอกจากนี้ยังมี กล้องถ่ายรูป ชอล์กสีทำเครื่องหมายจุดบกพร่อง ไฟฉาย สายยาง ถังน้ำ และเศษผ้าใช้ทดสอบการระบายในห้องน้ำ โดยนำผ้าอุดท่อระบายน้ำแล้วนำน้ำในถังน้ำเทแล้วเอาเศษผ้าออก เพื่อดูการระบายน้ำว่ามีการท่วมขังหรือไม่
โทรศัพท์นั้นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ควรใช้ 2 เครื่องเพื่อทดสอบการโทร ส่วนการทดสอบไฟให้นำโคมไฟเล็ก มาใช้ทดสอบ และเหรียญ 10 บาท สำหรับเคาะผนังปูน เพื่อทดสอบการกะเทาะของปูนตามรอยร้าว ในการแก้ไขต่าง ๆ นั้นควรบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เก็บไว้ที่เราชุดหนึ่ง และถ่ายสำเนาให้ผู้รับเหมา “เซ็นรับทราบ”อีกชุดหนึ่ง และให้ผู้รับเหมานัดวันตรวจครั้งที่สองในวันนั้นเลย ตอนมาตรวจการแก้ไขก็สามารถไล่ตรวจตามรายการดังกล่าวได้ทันที
โดยสำหรับการตรวจสอบบ้านนั้นจะมีจุดใหญ่ๆ ดังต่อนี้
1. แปลนบ้าน
บ้านทุกหลังจะต้องมีการออกแบบไว้ก่อน การตรวจสอบแปลนบ้านควรตรวจดูอย่างละเอียดตามที่ได้มีการออกแบบไว้ โดยเน้นไปที่ตำแหน่งการติดตั้งบริเวณโดยรอบ ส่วนรายละเอียดค่อยไปว่าเรื่องของแต่ละระบบภายในบ้านอีกที เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้งประตู เปิดซ้ายหรือเปิดขวา เปิดเข้าหรือเปิดออก หน้าต่างในแบบมีกี่บานของจริงก็ต้องเท่านั้น ปลั๊กไฟอยู่จุดไหน ความสูงจากพื้นเท่าไหร่ ต้องให้ได้ตามที่มีการออกแบบไว้ เป็นต้น อาจจะยอมให้เพี้ยนได้นิดหน่อยแต่ดูแล้วต้องไม่เปิดอุปสรรคในการใช้งาน
2. สภาพภายนอกตัวบ้าน
ตรวจดิ่ง ฉาก ของท่อระบายน้ำ ท่อประปา สภาพของทางระบายน้ำ ถังบำบัด ท่อน้ำทิ้ง และท่อน้ำดี ท่อต่างๆ เหล่านี้มีระยะความลาดเอียงเป็นอย่างไร ระบายน้ำได้ดีหรือไม่ ฝาท่อระบายน้ำเรียบร้อยสวยงามหรือไม่ ผนังบ้านด้านนอกมีจุดที่แหว่งหรือมีสีเลอะเทอะ หรืองานปูนในส่วนที่เป็นซอกมุมเรียบร้อยหรือไม่ หลังบ้านต้องไม่มีน้ำขังเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยสามารถลองทดสอบได้โดยการเทน้ำราดทดสอบดู
3. งานใต้หลังคา
อุปกรณ์ที่จะต้องใช้ มีไขควงวัดไฟ รองเท้าพื้นยาง และถุงมือหนา กันไฟดูด บันไดยาว สำหรับปีนขึ้นใต้หลังคา ไฟฉาย กล้องถ่ายรูปตรวจงาน ซึ่งถ้าเป็นหน้าฝนก็จะทำการตรวจสอบส่วนนี้ได้ง่าย ซึ่งหากไม่ใช่หน้าฝน จะตรวจเช็คได้ลำบาก เพราะต้องหาสายน้ำพร้อมกับเครื่องปั้มน้ำแรงดันสูง มาตรวจสอบโครงหลังคาว่าได้ฉากได้ระดับหรือไม่ ระยะห่างของแปเป็นอย่างไร การติดตั้ง และการยึดแผ่นกระเบื้องหลังคาถูกต้องเท่ากันหรือไม่
นอกจากนี้ ให้ดูการซ้อนทับของกระเบื้องถูกต้องตามมาตรฐานการติดตั้ง ความลาดเอียง ครอบสันเป็นอย่างไร มีแผ่นกระเบื้องบางแผ่นแตก หรือมีการรั่วซึมหรือไม่ ไม้ระแนง และไม้เชิงชาย มีการไสแต่งผิวเรียบเนียน มีขนาดสม่ำเสมอกันไหม และได้ทาน้ำยากันปลวก และรักษาเนื้อไม้หรือไม่
4. ระบบน้ำ
ระบบน้ำนั้นเป็นส่วนสำคัญ ให้เช็คระบบช่องน้ำล้น โดยขังน้ำไว้ในอ่างล้างหน้า อ่างครัว ที่ซักผ้า โดยขังน้ำให้เต็มดูว่าช่องน้ำล้นทำงานหรือไม่ แล้วปล่อยน้ำไหลออกดูว่าไหลดีหรือไม่ ถ้ามีอาการปุดๆ แสดงว่าไม่มีท่ออากาศ หรือท่ออากาศเล็กไป ให้ทดลองใช้พร้อมกัน ดูการแยกน้ำ กดสายชำระดูว่าใช้ดีหรือไม่ นอกจากนั้น ให้เช็คความลาดเอียงของพื้นในส่วนเปียกที่จำเป็นต้องมีการไหลระบายถ่ายเทของน้ำต้องมีความลาดเอียงไปสู่ท่อระบายน้ำ อย่างห้องน้ำ กันสาดลานจอดรถ หรือลานซักล้าง โดยการเทราดน้ำตามจุดดังกล่าว และดูว่ามีที่ท่วมที่ขังอย่างไรบ้าง ตรงไหนท่วม และอย่าลืมตรวจสอบปั้มน้ำ และก๊อกน้ำทุกหัวในบ้านว่าน้ำรั่วหรือไม่ สุดท้ายให้เช็คมิเตอร์น้ำ โดยการลองปิด เพื่อดูว่ามีจุดไหนในบ้านรั่วหรือไม่
5. ระบบไฟฟ้า
การตรวจระบบไฟฟ้าก็ไม่ยาก เพียงแต่ตรวจการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โคมไฟ เปิดติดง่าย และต้องใช้หลอดไฟใหม่เท่านั้น เต้าเสียบไฟฟ้าต้องสามารถทำงานได้ทุกตัวและตรงตำแหน่งที่ออกแบบไว้ มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่แตกร้าวหรือคลอน มีระบบตัดไฟเมนเบรกเกอร์พร้อมแบ่งชั้นบนชั้นล่าง ที่สำคัญต้องตรวจให้แน่ใจว่าช่างได้ทำการต่อสายดินไว้จริง โดยดูจุดลงสายดินให้เรียบร้อย หรือทางที่ดีควรหาไขควงวัดไฟจี้ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสายดิน ตรงนอตสักตัวเพื่อหาไฟรั่ว หากพบว่ามีไฟรั่วต้องแก้จนกว่าจะหายหมดทุกจุด หรือจะทดสอบโดยการปิดไฟทั้งหลังแล้วนั่งดูมิเตอร์
6. งานพื้น
ขั้นตอนการตรวจพื้นผิดเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด ต้องให้ได้ตามสเปคที่สั่งไว้ พื้นผิวต้องเรียบ ไม่เอียงหรือเอนไปทางใดทางหนึ่ง พื้นเรียบสม่ำเสมอ ต้องได้ฉากกับผนัง วัสดุปูพื้นต้องมีขนาดและสีเดียวกันทั้งผืน ถ้าจะให้ดีควรเตรียมไม้วัดระนาบด้วยจะดีมาก สำหรับวัดระนาบทั้งแนวดิ่งและแนวราบ หากเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปควรรื้อทำใหม่ทั้งหมด ผนังไม่มีรอยร้าวลายงา เพราะอาจจะหมายถึงการผสมปูนไม่ดี ถ้าหากรอยร้าวเป็นแนวเฉียง ๆ ซ้อนกันหลายรอยและกินวงกว้างอาจจะหมายถึงโครงสร้าง บ้านกำลังทรุดก็เปิดได้ สำหรับพื้นกระเบื้องต้องเคาะดูทุกแผ่น หากแผ่นไหนเสียงโปร่งแสดงว่าปูพื้นไม่แน่นต้องทำการปูแผ่นนั้น ใหม่ เพราะหากใช้ไปนาน ๆ จะเกิดการแตกภายหลัง สุดท้ายคือต้องดูการยารอยแนวให้เรียบร้อย
7.งานกำแพง ผนัง
เดินดูกำแพงว่าสะอาดดี หรือไม่ Wallpaper ที่ติดเอาไว้เรียบเสมอกันดีหรือเปล่า โดยให้เอาหน้าแนบดูกับกำแพงว่าเรียบเสมอกันดีหรือเปล่า มีกำแพงบุบหรือโป่งหรือไม่ตามขอบบัวติดผนังให้เอาไม้บรรทัดวางลงกับพื้นแล้วเลื่อนดู หากมีการโป่ง หรือเว้าตัวของบัวจะเห็นช่องว่างที่อยู่ระหว่างไม้บรรทัด กับขอบบัวสีนอกอาคารดูให้ทั่วว่ามีรอยร้าวหรือเปล่า มีรอยน้ำหรือเปล่า หากมีแสดงว่าน้ำรั่วให้หาสาเหตุโดยด่วนตามประตู และหน้าต่างให้ลองเปิดปิดดูทุกบาน ดูว่ามีการทรุดตัวของประตู หรือหน้าต่างหรือไม่ ลองปิดแบบปล่อยให้ประตูปิดเองจะรู้ได้ทันที และให้ปิดประตูแล้วเอาไฟฉายส่องดูว่ามีแสงลอดหรือเปล่า พร้อมทั้งตรวจดูกุญแจทุกดอกดูว่าใช้งานได้หรือเปล่าประตูรั้วหน้าบ้าน ลงล็อคดีหรือเปล่า สามารถใช้งานได้หรือไม่ ลองเปิดและปิดดูตรวจสอบรอยร้าวกำแพงรั้วบ้าน และดูความเรียบร้อย
8.ระบบฝ้าเพดาน
ตรวจสอบระบบฝ้าเพดานจะคล้ายกับการตรวจ พื้น และผนัง คือตรวจสอบดูความเรียบร้อยทั่ว ๆ ไป ระดับการติดตั้ง การเข้ามุม ความเรียบร้อยบริเวณรอยต่อต่าง ๆ และหากมีร่องรอยหยดน้ำอยู่ที่ฝ้าเพดาน ต้องรีบตรวจสอบหาสาเหตุของรอยดังกล่าวอย่างละเอียด เมื่อตรวจสอบสภาพภายนอกของฝ้าเพดานแล้ว ให้เอาบันไดมาปีนดูช่องเปิดของฝ้าเพื่อตรวจสอบ ปูนโป๊ว ระยะโครงต่าง ๆ ว่ามีความเรียบร้อยสม่ำเสมอกันหรือไม่
9.ระบบช่องเปิด-ปิด กลอน ประตู หน้าต่าง กุญแจ
หลักการใหญ่ ๆ ในการตรวจสอบประตูหน้าต่าง และช่องเปิดอื่น ๆ คือ การตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มือจับ กุญแจ บานพับ กลอนประตู หน้าต่าง ติดตั้งในตำแหน่งที่ถูกต้อง ได้แนวได้ระดับถูกต้อง สวยงาม ตรวจสอบดูกลอนประตูว่าหลวม หรือแน่นไปหรือไม่ ประตู หน้าต่างดังกล่าวเปิดปิดเป็นอย่างไร ปิดไม่สนิท หรือปิดลำบาก หรือไม่ การยาแนวระหว่างกระจกกับบานประตูเรียบร้อยทั่วถึงหรือไม่ ทดลองใส่กลอนทุกตัวว่าใส่ได้จริงๆ และเรียบร้อยหรือไม่ กุญแจ ต่าง ๆ เปิดปิดได้จริงๆ หรือไม่ และดู Door Stop มียางกันกระแทกหรือเปล่า
10.ระบบสุขาภิบาล
ในการตรวจสอบระบบสุขาภิบาลนั้น ควรทดลองใช้งานสุขภัณฑ์ทุกตัว เปิดก๊อกน้ำ จนสุดทุกก๊อก ดูว่าน้ำไหลดีไหม การหมุนของวาวเป็นอย่างไร ทดลองหมุนเข้า หมุนออก และตรวจเช็คข้อต่อว่ามีรอยรั่วซึมหรือไม่ โดยมีวิธีการเช็ครอยรั่วซึมในจุดที่มองไม่เห็นได้ด้วยการปิดการใช้น้ำทุกตัว ถ้าวาล์วน้ำยังหมุน หรือปั๊มน้ำยังมีการทำงานถี่ตลอดเวลา แสดงว่าบ้านท่านมีอาการรั่วซึม ต้องทำการตรวจเช็คโดยด่วน
จากนั้นก็ตรวจเช็คระบบช่องน้ำล้นในสุขภัณฑ์ ด้วยการขังน้ำไว้ ในสุขภัณฑ์ ในบริเวณที่ขังได้ เช่น อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ อ่างครัว ที่ซักผ้า ทดลองขังน้ำไว้ให้เต็ม ดูว่าช่องน้ำล้นทำงานหรือไม่ เสร็จแล้วปล่อยน้ำออกในทันทีดูว่าน้ำไหลได้สะดวกหรือไม่ ถ้ามีอาการ ปุดๆ แสดงว่า ไม่มีท่ออากาศ หรือท่ออากาศตัน หรือท่ออากาศเล็กไป และถ้าอยู่ในห้องน้ำเดียวกัน ให้ทดลองเปิดน้ำออกพร้อมกัน เพื่อดูว่า การแย่งกันไหลออกของน้ำ มีผลอย่างไร จะให้ดีให้ลองกดชักโครกทดสอบการใช้งานไปพร้อมๆ กันด้วย ยิ่งดีครับ เพื่อให้ระบบน้ำแย่งกันใช้งาน ให้มากที่สุด และสังเกตด้วยว่าน้ำในชักโครกไหลคล่องหรือไม่
ตลอดจนทดสอบกดสายชำระทุกอัน ดูว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ จากนั้นให้เอาถังน้ำที่เตรียมไว้มา รองน้ำให้เต็ม แล้วค่อยๆ เทลงพื้นห้องน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงท่อระบายน้ำ ถ้าทำได้ให้เอาผ้าอุดที่รูระบายน้ำพื้น ให้น้ำขัง แล้วค่อยปล่อยน้ำให้ไหล ดูว่า การระบายน้ำที่พื้น เป็นอย่างไร สุดท้ายลองตรวจสอบดูตามจุดอับ จุดซ่อนเร้นต่าง ๆ เช่น บริเวณใต้เคาน์เตอร์ว่าช่างเก็บงานเรียบร้อยหรือไม่ ตรวจสอบปากท่อระบายน้ำทุกที่ ไม่ควรมีวัสดุหรือรอยปูนตกค้างอยู่
ที่มา : www.infinitydesign.in.th