วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

กฏหมายบันไดหนีไฟ 1

            กฏหมายบันไดหนีไฟ



         ระบบความปลอดภัยในบ้าน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หนึ่งในนั้นคือ “บันไดหนีไฟ” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ที่พักอาศัยที่เข้าข่าย โดยเฉพาะบ้าน ทาวน์โฮม ตึกแถว ที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป อาคารพักอาศัยที่ไม่ใช่ตึกแถวบ้านแถว ซึ่งสูง 3 ชั้นและมีชั้นที่ 4 เป็นดาดฟ้า โดยที่พักอาศัยเหล่านี้จะต้องมีบันไดหนีไฟที่มีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย  

          บันไดหนีไฟ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหนีไฟในอาคาร ที่มีกฎหมายอาคารออกข้อบังคับต่าง ๆ ให้ผู้ออกแบบยึดเป็นแนวทางในการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้สอยอาคาร

สำหรับบ้านอยู่อาศัยทั่ว ๆ ไป หากมีความสูงหรือพื้นที่ใช้สอยเข้าข่ายที่กฎหมายกำหนดเมื่อใด เมื่อนั้นบ้านหลังดังกล่าวก็จะต้องทำบันไดหนีไฟเพิ่มจากที่มีบันไดปกติอยู่แล้วอีกหนึ่งบันได และบันไดหนีไฟนั้นก็จะต้องมีลักษณะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

         เมื่อใดบ้านต้องมีบันไดหนีไฟ       

         กฎหมายควบคุมอาคาร กำหนดให้บ้านอยู่อาศัย ไม่ว่าบ้านของท่านจะสร้างเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแถว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว ฯลฯ  หากมีความสูงตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไป หรือมีความสูงสามชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นสามที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร จะต้องมี “บันไดหนีไฟ”เพิ่มจากบันไดปกติอย่างน้อยอีกหนึ่งแห่ง (กฎ.55 ข้อ 27) และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดินที่ไปยังบันไดหนีไฟนั้น      

        กรณีบ้านในกรุงเทพมหานคร มีกำหนดเพิ่มเติมว่า หากมีการทำชั้นใต้ดินตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป (อาจมีบ้านบางหลังทำ) บ้านหลังนั้นก็ต้องทำ “ทางหนีไฟ” โดยเฉพาะอีกหนึ่งทางด้วย(ขบ.44 ข้อ 39) ซึ่งทางหนีไฟนี้จะทำเป็นบันไดหรือไม่ก็ได้ เช่น ทำเป็นทางลาด

ลักษณะของบันไดหนีไฟ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร      

 บันไดใด ๆ จะถือเป็น “บันไดหนีไฟ” ก็ต่อเมื่อมีลักษณะตามที่กฎหมายควบคุมอาคารได้กำหนดไว้ ดังนี้

         1. บันไดหนีไฟต้องเป็นบันไดที่มีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา ยกเว้นแต่อาคารนั้นเป็นตึกแถวหรือบ้านแถวที่มีความสูงไม่เกินสี่ชั้น โดยต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น (กฎ.55 ข้อ 28)สำหรับกรุงเทพมหานคร ห้ามสร้างบันไดหนีไฟเป็นบันไดเวียน (ขบ.44 ข้อ 41) และบ้านแถวหรือตึกแถวสูงไม่เกินสี่ชั้นหรือสูงไม่เกิน 15 เมตร จากระดับถนน กำหนดให้บันไดหนีไฟจะเป็นแนวดิ่งก็ได้ แต่ต้องมีชานพักทุกชั้น แต่ละขั้นบันไดต้องห่างไม่เกิน 40 เซนติเมตร โดยขั้นสุดท้ายต้องสูงจากพื้นดินไม่เกิน 3.50 เมตร (ขบ.44 ข้อ 43) สำหรับบันไดหนีไฟแนวดิ่ง เรามักเรียกกันว่าบันไดลิง นั่นเอง


  2. บันไดหนีไฟ ที่ไม่ใช่บันไดแนวดิ่งสำหรับตึกแถวหรือบ้านแถว ต้องทำด้วยวัสดุทนไฟและไม่ผุกร่อน ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร ความสูงราวบันได 90 เซนติเมตร (ขบ.44 ข้อ 41) บันไดหนีไฟของอาคารในต่างจังหวัดก็ต้องมีระยะลูกตั้งลูกนอนเช่นเดียวกันด้วย




           3. บันไดหนีไฟ ถ้าอยู่ภายนอกอาคาร ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และผนังส่วนที่บันไดหนีไฟพาดผ่านต้องเป็นผนังทึบทนไฟ และถ้าลงไม่ถึงชั้นล่าง ต้องทำบันไดโลหะที่สามารถยืดหรือหย่อนลงจนถึงพื้นชั้นล่างได้ (กฎ.55 ข้อ 29) บันไดหนีไฟภายนอกถ้าเป็นอาคารประเภทห้องแถวหรือตึกแถว ซึ่งปกติจะต้องมีที่ว่างด้านหลังกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่กฎหมายผ่อนผันให้บันไดหนีไฟภายนอก ล้ำเข้าไปหรืออยู่ในส่วนพื้นที่ว่าง 3 เมตรนั้นได้ แต่จะต้องล้ำเข้าไปไม่เกิน 1.40 เมตร



4. บันไดหนีไฟ ถ้าอยู่ภายในอาคาร ต้องความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีผนังทึบทนไฟกั้นโดยรอบ ในแต่ละชั้นของบันไดหนีไฟต้องมีช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทจากภายนอกมีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.4 ตารางเมตร โดยต้องมีแสงสว่างให้เพียงพอตลอดเวลา  สำหรับอาคารใน กทม. มีเพิ่มเติมว่า หากเป็นบันไดหนีไฟอยู่ภายในอาคารต้องทำให้ลงถึงชั้นพื้นดิน  และ กำหนดบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร 



  5. มีประตูหนีไฟ ที่ทำด้วยวัสดุทนไฟ ความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร เป็นบานเปิดผลักออกสู่ภายนอกและติดอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีธรณีหรือขอบกั้น  อาคารในเขต กทม. มีการกำหนดการเปิดประตูของบันไดหนีไฟให้ชัดเจนขึ้น คือ ประตูหนีไฟต้องเป็นบานเปิดชนิดผลักเข้าสู่บันไดเท่านั้นสำหรับชั้นดาดฟ้า ชั้นล่างและชั้นที่ออกเพื่อหนีไฟสู่ภายนอกอาคารให้ประตูหนีไฟเปิดออกจากห้องบันไดหนีไฟ 



       6. ชานพักบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างบันได 
      
        7. พื้นหน้าบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันไดและ “อีกด้านหนึ่ง” กว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร 

8. ตำแหน่งบันไดหนีไฟ ต้องมีระยะห่างระหว่างประตูห้องสุดท้ายด้านทางเดินที่เป็นปลายตันไม่เกิน 10 เมตร หากมีบันไดหนีไฟตั้งแต่สองบันไดขึ้นไป ระยะห่างระหว่างบันไดหนีไฟตามทางเดินต้องไม่เกิน 60 เมตร  
และต้องมีป้ายเรืองแสงหรือเครื่องหมายไฟแสงสว่างบอกทางหนีไฟ โดยมีข้อความหนีไฟเป็นตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร  ติดตามทางเดินและทางออกจากบันไดหนีไฟให้ชัดเจน

ที่มา : SCG Experience  ขอขอบคุณข้อมูลดีๆครับ