วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กลวิธีเลี่ยงภาษี

กลวิธีเลี่ยงภาษี 

โดย อาจารย์อนุชา กุลวิสุทธิ์




             จริงๆ แล้ว กลวิธีเลี่ยงภาษีที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ทางการเงิน ถือเป็นเพียงเทคนิคสีเทาๆ เท่านั้น เพราะอาจเป็นได้ทั้งการวางแผนภาษีหรือการใช้โกงภาษีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้เป็นสำคัญ แต่สำหรับมุมมองของสรรพากรแล้ว กลวิธีเหล่านี้กลับถูกเหมารวมมองว่าเป็นกลโกงภาษีไปหมด ซึ่งเท่าที่รวบรวมได้จะมีอยู่ 10 กลวิธีด้วยกันดังนี้

               1. การตั้งตัวแทนเชิด เป็นการตั้งบุคคลอื่นหรือบริษัทเป็นผู้มีรายได้ มาเสียภาษีแทนตน อันมีผลทำให้ตัวเองเสียภาษีน้อยลง หรือหากมีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมายก็จะยากขึ้น โดยตัวแทนที่นิยมใช้กันมากที่สุด ก็คือลูกน้อง หรือคนงานของตัวเอง นั่นเอง วิธีนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และกิจการรับส่งสินค้า ของเหล่านักการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นิยมทากันมาก โดยเงื่อนไขสำคัญของคนที่จะถูกเชิด ก็คือต้องไม่ให้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท เพื่อเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

               2. การตั้งคณะบุคคลขึ้นหลายๆ คณะ วัตถุประสงค์ก็เพื่อแตกฐานเงินได้ให้เล็กลง โดยมีชื่อตนเองในทุกคณะ ซึ่งจะส่งผลให้เสียภาษีในอัตราต่ำลง และยังทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายในแต่ละคณะได้ด้วย เดิมวิธีนี้ นิยมทากันมากในหมู่ ผู้มีอาชีพอิสระ ที่ปรึกษา ศิลปินดารา หรือพวกที่มีรายได้สูงๆ แต่ปัจจุบันทำได้ยากขึ้น เนื่องจากสรรพากรปิดช่อง โดยใช้นโยบายคุมกำเนิดคณะบุคคลตั้งใหม่ และตรวจสอบคณะบุคคลเดิมอย่างเข้มงวด

              3. ทำให้บริษัทขาดทุน เป็นอีกวิธีที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายในหมู่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยจะใช้วิธีการสร้างรายจ่าย หรือบิลรายจ่ายมาเบิกบริษัทให้มากที่สุด เพื่อทำให้บริษัทขาดทุนและไม่อยู่ในสถานะต้องเสียภาษี ดังนั้นจะทำให้ภาษี ส่วนที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว มีโอกาสได้คืน เนื่องจากบริษัทไม่มีกำไรและยังขาดทุนอยู่

              4. การหลบยอดขายและยอดซื้อ โดยอาศัยการแต่งบัญชีบริษัท เพื่อทำให้ยอดขายเกิดขึ้นเพียงเท่าที่ต้องการจะเสียภาษีเท่านั้น เช่นจริงๆ มียอดขายสินค้า 200 รายการ แต่จะมีการเปิดบิลหรือมียอดขายตามบิลแค่ 80 รายการ วิธีการลักษณะนี้บรรดาบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิยมทำกันมากโดยจะมีบัญชี 1 และบัญชี 2 ซึ่งบัญชีหนึ่งจะเป็นบัญชีจริง ส่วนอีกบัญชีจะทำขึ้นเพื่อใช้ยื่นเสียภาษีเป็นการเฉพาะ วิธีการแบบนี้ คนไม่กลัวชอบทำกันมาก เพราะความผิดกรณีถูกสรรพากรจับได้ โทษในบ้านเราเบามาก เพียงแค่ถูกปรับเท่านั้น

              5. การซื้อใบกำกับภาษี เป็นอีกวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในหมู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง นั่นคือซื้อใบกำกับภาษีซื้อจากผู้ค้าน้ำมันมาเป็นยอดรายจ่ายของบริษัทตน ทั้งนี้เพราะผู้เติมน้ำมันรายย่อยมักไม่ค่อยขอใบกำกับภาษีกัน

              6. การหลีกเลี่ยงโดยผ่านระบบบัญชีวิธีการแบบนี้ นักบัญชีของบริษัทจำเป็นต้องรู้กันกับเจ้าของกิจการ หุ้นส่วนบริษัท หรือบอร์ดบริษัท ด้วยการร่วมกันสร้างบัญชีเท็จ กำหนดรายจ่ายต่างๆ เข้ามาเบิกในบัญชีบริษัทหรือค่าที่ปรึกษา ค่าโบนัสให้กับกรรมการหรือพนักงาน เพื่อให้บริษัทเสียภาษีน้อย แต่เจ้าของกิจการได้กำไรมากๆ

             7. การตั้งบริษัทเพื่อเจตนาออกใบกำกับภาษีซื้อปลอม โดยจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายๆ แห่ง และมีการออกใบกำกับภาษีซื้อขายแก่กันเป็นทอดๆ โดยไม่ได้มีการทำกิจการจริง แต่ใช้วิธีการโอนกลับไปกลับมาเท่านั้น วิธีการแบบนี้ ที่ทำแล้ว ดูเนียนมากที่สุด ก็คือทำทีมีการส่งออกสินค้า และมีการปลอมใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ จากนั้นจึงค่อยนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกที

            8. การซื้อบิลจริง แต่ไม่มีการกระทำจริง เป็นวิธียอดฮิตในหมู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายภาษี วิธีการก็คือติดต่อขอซื้อใบเสร็จ มาอ้างเป็นค่าการตลาด โดยจ่ายให้บริษัทสื่อเพียงแค่ส่วนที่ถูกหักภาษี ณ.ที่จ่าย พร้อมส่วนต่างให้อีกนิดหน่อยเท่านั้น

             9. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เลี่ยงภาษีขายอสังหาฯ โดยจริงๆแล้ว เป็นการขายบ้านพร้อมที่ดิน แต่จะใช้วิธีแบ่งแยกเป็น 2 สัญญา คือสัญญาซื้อขายที่ดิน กับสัญญาว่าจ้างปลูกบ้าน เพื่อเลี่ยงภาษีรายได้และค่าธรรมเนียมในส่วนของการปลูกบ้านจะได้ไม่ต้องจ่ายให้กับรัฐ วิธีแบบนี้ ส่วนใหญ่นิยมทำกันมากในหมู่รายเล็ก รายกลาง ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

             10. นำคอนโดฯ มาแอบทำเป็นโรงแรม วิธีการแบบนี้ เจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมในแหล่งท่องเที่ยวต่างจังหวัดนิยมทำกันมาก โดยจะมีการประกาศขายห้องชุดเพียงบางส่วน และมีการเก็บห้องชุดอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ประกอบกิจการโรงแรม ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องแสดงรายได้ที่เกิดจากการให้บริการกิจการโรมแรม เพราะรายได้จำนวนนี้ความจริงแล้วต้องนำมาคำนวณ VAT และภาษีรายได้ด้วย