คนในโลกมากขึ้น การบริโภคก็มากขึ้น มลพิษเพิ่มขึ้น โลกก็ร้อนขึ้น ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนเพิ่งเริ่มรู้สึกว่ามันใกล้ตัวมากขึ้นเท่านั้นเองจริง ๆ แล้วโลกจะเย็นลงได้ด้วยการเริ่มจาก ทำบ้านให้เย็นลงก่อน แต่ไม่ใช่เย็นเพราะใช้เครื่องปรับอากาศนะ ต้องเย็นเพราะ เราไม่ทำให้มันร้อน ด้วยความเข้าใจในสภาวะอากาศ ถ้าเข้าใจธรรมชาติของลม ของแสงแดด แค่นี้บ้านก็เย็นได้ ไม่เชื่อลองดู
1. ขนาดของช่องเปิด หลักการรับลมเข้าบ้านก็คือต้องมีช่องเปิดให้ลมเข้าและลมออก ขนาดของช่องเปิดจึงมีส่วนสำคัญในการรับลม หากช่องที่ลมเข้ามีขนาดเล็กขณะที่ช่องที่ลมออกมีขนาดใหญ่ก็จะรับลมได้มาก ในทางกลับกัน หากช่องที่ลมเข้ามีขนาดใหญ่แต่ช่องที่ลมออกมีขนาดเล็ก ลมที่พัดพาเข้าสู่บ้านก็จะน้อยตามไปด้วย
2. อากาศใต้หลังคา หลังคาเป็นพื้นที่ที่รับแสงแดดมากที่สุดของบ้าน แน่นอนว่าต้องรับปริมาณความร้อนมากที่สุดด้วย แล้วความร้อนที่สะสมบนหลังคาก็จะแผ่ลงมาสู่ฝ้าเพดานและห้องทุกห้องที่อยู่ภายในบ้าน วิธีบรรเทาก็คือ ทำช่องว่างระหว่างใต้หลังคากับฝ้าเพดาน เพื่อให้ลมช่วยพัดพาความร้อนออกไปก่อนที่จะแผ่ลงมาสู่ฝ้าเพดาน อย่าลืมทำช่องระบายอากาศใต้หลังคาหรือทำหลังคาสองชั้นก็ได้
3. พื้นที่แสนสบายอยู่ใต้ถุน หากเปรียบหลังคาเป็นส่วนกันความร้อนจากแสงแดดให้พวกเราที่อยู่ในตัวบ้าน หลักการนี้ก็ใช้ได้กับพื้นที่ใต้ถุน โดยพื้นที่บนเรือนชั้นสองจะทำหน้าที่เป็นหลังคากันความร้อนจากแสงแดด หนำซ้ำใต้ถุนบ้านยังไม่มีผนังกั้น จึงเปิดรับลมได้ทุกทิศทางเวลาอยู่ใต้ถุนจะรู้สึกเย็นสบาย คนจึงนิยมใช้ใต้ถุนเรือนไทยเป็นที่ทำกิจกรรมอเนกประสงค์ในตอนกลางวัน
4. ความชื้นมากับสายลม บ้านที่อยู่ติดบ่อน้ำหรือบึงน้ำมีข้อดีคือ เมื่อน้ำระเหยเป็นไอ ลมก็จะพัดพาไอเย็นนี้เข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้บรรยากาศเย็นสบาย และถ้าภายในบริเวณบ้านปลูกต้นไม้ซึ่งจะคายก๊าซออกซิเจนในตอนกลางวัน ก็จะยิ่งได้ความรู้สึกสดชื่นเพิ่มมากขึ้น
5. วางตัวบ้านให้อยู่ในตำแหน่งหลืบเงา บ้านที่อาศัยร่มเงาของอาคารหรือต้นไม้ใหญ่จะยิ่งเย็นสบายน่าอยู่มากขึ้น ควรวางตำแหน่งของบ้านให้อยู่ในส่วนหลืบเงาจากแดดยามบ่ายทางทิศตะวันตกและทิศใต้ที่ร้อนมาก ๆ
6. ไม้ใหญ่กับแสงและลม การวางตำแหน่งต้นไม้ให้บังแดดบ่ายจากทิศตะวันตกเฉียงใต้จะช่วยให้บ้านได้ร่มเงา นอกจากนี้อาจตัดแต่งกิ่งก้านให้มีช่องเปิดรับลม แต่ยังคงมีทรงพุ่มที่บังแดดด้วย ก็จะได้ประโยชน์ถึงสองชั้น
7. ใช้ลมหมุน ทิศทางการพัดของลมมีส่วนช่วยนำพาความเย็นสบายเข้าสู่ตัวบ้าน นอกจากลมจะพัดมา ตรง ๆ แล้ว เราสามารถออกแบบให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านคอยดักทางลม เพื่อบังคับให้ลมหมุนเข้ามายังด้านที่ต้องการได้
8. ระเบียงรอบบ้านหรือผนังสองชั้น การทำระเบียงทางสัญจรรอบบ้านก็เป็นเสมือนกำแพงอากาศอีกชั้นหนึ่งให้ตัวอาคาร แทนที่อากาศร้อนจากภายนอกจะเข้ามาปะทะกับผนังบ้านโดยตรง ก็จะมีระเบียงนี้คอยกันความร้อนไว้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีส่วนชายคาระเบียงที่ช่วยบังแสงแดดไม่ให้ตกกระทบกับผนังโดยตรงด้วย ทำให้พื้นที่ภายในบ้านเย็นสบาย
9. เปิดมุมรับลม การออกแบบมวลของอาคารให้มีส่วนเปิดไปสู่ภายนอกให้มากที่สุด เช่น ออกแบบผังอาคารเป็นรูปตัวยู (U) หรือตัวแอล (L) ก็จะช่วยรับและระบายลมได้ดี หากออกแบบอาคารเป็น “ก้อนสี่เหลี่ยมทึบ” บริเวณตรงกลางก็จะร้อนอบอ้าว ไม่รับลม
10. การออกแบบไอเดียสนุก ๆ เช่น การปลูกหญ้าบนหลังคาบ้านเพื่อช่วยลดความร้อนจากแสงแดด หรือออกแบบฝังตัวบ้านลงไปในดินโดยอาศัยไอเย็นจากดินช่วยคลายความร้อน หรือออกแบบบ้านให้อยู่กลางน้ำเพื่อรับไอเย็นก็เป็นไอเดียสนุก ๆ ที่สามารถประยุกต์ให้เป็นจริงได้เช่นกัน.